44 จำนวนผู้เข้าชม |
ปริมาณและมูลค่า “บ้านสร้างเอง” ทั่วประเทศปี 2567 (ไม่ใช่บ้านจัดสรร) ปรับตัวลดลงแรงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา! จากมูลค่า 172,000 ล้านบาท ในปี 2566 ขณะที่ปี 2567 คาดมูลค่าลดลง 24% ราว 41,000 ล้านบาท เหลือ 131,000 ล้านบาท เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ปัญหาหนี้ครัวเรือน ธนาคารเข้มงวดปล่อยสินเชื่อ ราคาบ้านปรับตัวสูงขึ้น และ กำลังซื้อผู้บริโภคซบเซา
เช่นเดียวกับ ตลาด“รับสร้างบ้าน” (กลุ่มบริษัทรับสร้างบ้าน หรือ ศูนย์รับสร้างบ้าน) มูลค่าลดลงเช่นกัน ราว 20% จาก 18,000 ล้านบาทในปี 2566 เหลือ 14,500 ล้านบาท ในปี 2567 โดยตลาดที่ลดลงมากที่สุด แยกตามภูมิภาค 3 ลำดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล, ภาคเหนือ และภาคใต้
โดยสมาชิกธุรกิจรับสร้างบ้านจากสมาคมไทยรับสร้างบ้าน และสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน มีส่วนแบ่งตลาด 9,800-10,000 ล้านบาท คิดเป็น 68% ของมูลค่าตลาดรับสร้างบ้าน และ 8% ของมูลค่าตลาดรวมบ้านสร้างเอง
ในปี 2568 คาดปริมาณและมูลค่า “บ้านสร้างเอง” ทั่วประเทศ มีแนวโน้มทรงตัวหรือใกล้เคียง มูลค่าอยู่ที่ 120,000-130,000 ล้านบาทปัจจัยสำคัญที่ทำให้บ้านสร้างเองยังไม่อาจฟื้นตัว ยังคงวนเวียนอยู่กับปัจจัยเดิมๆ กล่าวคือ ปัญหาหนี้ครัวเรือน เศรษฐกิจประเทศที่ฟื้นตัวช้าหรือชะลอตัว กำลังซื้อผู้บริโภคที่ลดลง
“ในส่วนปัจจัยบวกที่อาจประคองไม่ให้ปริมาณบ้านสร้างเองลดลงไปมากกว่านี้ ได้แก่ ต้นทุนวัสดุและราคาบ้านที่ยังทรงตัว หรือ ราคาไม่สูงขึ้น”
ในส่วนของปริมาณและมูลค่าตลาด “รับสร้างบ้าน” ปี 2568 มีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คาดมูลค่า 14,000-15,000 ล้านบาท โดยสมาชิก 2 สมาคมมีส่วนแบ่งตลาด 70% เพิ่มขึ้นเล็กน้อย คิดเป็นมูลค่า 10,000-10,500 ล้านบาท
“ภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้านยังคงแข่งขันกันสูงมาก ทั้งตลาดรับสร้างบ้านในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัด (Red Ocean) ดังนั้นหากผู้ประกอบการไม่มีการปรับตัวจะแข่งขันในธุรกิจนี้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ หรือต้องออกจากธุรกิจนี้ไป”
หากมองย้อนกลับไป 20 ปีก่อนผู้ประกอบการรับสร้างบ้านเกือบทั้งหมดกระจุกตัวอยู่เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไม่นับรวมผู้รับเหมาทั่วไป โดยตลาดรวมรับสร้างบ้านมีมูลค่า 5,500-6,000 ล้านบาท ราคาค่าก่อสร้างบ้านโดยเฉลี่ย 7,000-9,000 บาท/ตารางเมตรภาพรวมแข่งขันรุนแรงมาก ตลาดรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ เป็นเรดโอเชี่ยน ทำให้ผู้ประกอบการบางรายต้องปรับตัว เพื่อหนีการแข่งขันที่รุนแรงออกไปบุกเบิกตลาดต่างจังหวัดแทน ขณะนั้นถือเป็นตลาดเกิดใหม่ (ฺBlue Ocean) และเวลาต่อมาผู้ประกอบการรายอื่นในเขตกรุงเทพฯ ต่างก็เริ่มขยายสาขาออกไปในต่างจังหวัดบ้างเช่นกัน พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของรายใหม่ในทุกจังหวัดที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน
นิรัญ โพธิ์ศรี นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้านและรองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท ปทุมดีไซน์ ดีเวลลอป จำกัด หรือ ศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์ กล่าวว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากระทบกำลังซื้อ และความต้องการสร้างบ้าน ใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านของผู้บริโภคลดลง สวนทางกับผู้ประกอบการรับสร้างบ้านรายใหม่-รายเก่าที่เพิ่มจำนวนขึ้น แต่ละจังหวัดมีผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 15-30 ราย ส่งผลให้ธุรกิจรับสร้างบ้านมีการแข่งขันกันสูงมาก โดยเฉพาะตลาดหัวเมืองหลัก เช่น เชียงใหม่ เชียงราย นครราชสีมา ขอนแก่น ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี สงขลา ภูเก็ต ฯลฯ เป็นเรดโอเชี่ยน (Red Ocean) ไม่ต่างจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลในอดีตที่ผ่านมา
สิทธิพร สุวรรณสุต กรรมการกิตติมศักดิ์ สมาคมไทยรับสร้างบ้าน กล่าวเสริมว่า แม้มูลค่ารวมตลาดรับสร้างบ้านจะสูงขึ้นเท่าตัว! เทียบ 20 ปีก่อน แต่เป็นการเติบโตในแง่ค่าก่อสร้างต่อหน่วยหรือมูลค่าต่อหน่วยสูงขึ้น เป็นผลจากต้นทุนวัสดุและค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ในเชิงปริมาณกลับขยายตัวน้อยกว่า นับเป็นข้อจำกัดของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่แข่งขันอยู่ในธุรกิจนี้ เพราะไม่สามารถเพิ่มจำนวนหน่วยก่อสร้างต่อปีได้มากขึ้น
สาเหตุสำคัญมาจาก ขาดการพัฒนาองค์ความรู้และบริหารธุรกิจให้ทันสมัย ขาดการนำเทคโนโลยีก่อสร้างมาใช้พัฒนากระบวนการก่อสร้างและสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์อย่างจริงจังและชัดเจน
“หากกลุ่มธุรกิจรับสร้างบ้านต้องการจะเพิ่มมาร์เก็ตแชร์จากมูลค่าตลาด บ้านสร้างเอง 120,000-130,000 ล้านบาทในปี 2568 และปีต่อ ๆ ไปให้ได้มากกว่า 8% บรรดาผู้ประกอบการและกลุ่มผู้นำธุรกิจควรหันมาให้ความสำคัญกับ 3 ปัจจัยดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีก่อสร้างมาใช้ในกระบวนการก่อสร้างและสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของธุรกิจ ลบข้อจำกัดต่างๆ เปลี่ยนมาแข่งขันในเชิงคุณภาพมากกว่าด้านราคา ต้องสร้างจุดเด่น หรือจุดขายของตัวเองให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคยอมรับและไว้วางใจ”
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 09 ม.ค. 2025