391 จำนวนผู้เข้าชม |
การกระชากกำลังซื้อในหลายด้าน ของรัฐบาล “เศรษฐา1” หลายฝ่ายมองว่าเป็นสัญญาณที่ดี ให้เศรษฐกิจเดินไปข้างหน้าได้ โดยเฉพาะ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประกาศ ให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมบริการและท่องเที่ยว ที่ระบุว่า อาจมีการยกเลิการขอวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยว หรือคนจีนที่ต้องการเข้าประเทศไทย
นายสุรเชษฐกองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด บริษัทวิจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์ ประเมินว่า มีผลดีต่อธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทยที่ต้องการนักท่องเที่ยวจีนให้กลับเข้ามาประเทศไทยเยอะแบบก่อนหน้านี้ ปัจจุบัน พบว่ามีนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเข้ามาในประเทศไทยช่วงตั้งแต่เดือนมกราคม- กรกฎาคมประมาณ 1.853 ล้านคน ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้สิ้นปีคงไม่ได้ 5 ล้านคนตามที่ตั้งเป้าไว้แน่นอน
ดังนั้นเรื่องของการปล่อยฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจากประเทศจีนจึงได้รับการพูดถึงเป็นลำดับแรกๆ และตลาดคอนโดมิเนียม จะได้รับอานิสงค์ไปด้วยแน่นอน แม้ว่าเศรษฐกิจในประเทศของพวกเขาจะไม่ดีก็ตาม
อย่างไรก็ตามยังมีคนจีนที่ต้องการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อยู่ และเมื่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศพวกเขาไม่น่าสนใจในระยะยาวแล้ว การลงทุนในตลาดประเทศไทยเป็นทางเลือกที่พวกเขาให้ความสนใจแน่นอน เพียงแต่ต้องมีความสะดวกหรือไม่ยุ่งยากต่อพวกเขาเช่นกัน เพราะพวกเขามีทางเลือกที่ค่อนข้างหลากหลายในการลงทุนอสังหาริมทรัพย์นอกประเทศจีน ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่คนจีนต้องการเข้าไปซื้ออสังหาริมทรัพย์มากเป็นอันดับที่ หนึ่ง เหมือนช่วงโควิด-19 อีกต่อไป ดังนั้น ถ้าต้องการกำลังซื้อจากคนจีนก็ต้องเพิ่มความสะดวกในประเทศเรา ส่วนปัญหาในประเทศของเขานั้นก็ให้พวกเขาจัดการเอง
ชาวต่างชาติยังคงเป็นหนึ่ง ในกลุ่มผู้ซื้อสำคัญในตลาดคอนโดมิเนียมของประเทศไทยในทุกๆ ปีจะมีการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมโดยชาวต่างชาติคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10-15% ของยูนิตที่มีการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมในประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่ตัวเลขที่น้อยๆเลย และเป็น 1 ในปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการพยายามเหลือเกินที่จะเพิ่มสัดส่วนตรงนี้ให้มากขึ้น เพราะลำพังกำลังซื้อของคนไทยอาจจะไม่เพียงพอในการขับเคลื่อนตลาดคอนโดมิเนียมในระยะยาว
จากข้อมูลการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมของชาวต่างชาติในประเทศไทย ช่วงครึ่งแรกของปีพ.ศ.2566ของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ธนาคารอาคารสงเคราะห์ คนจีนยังเป็นกลุ่มผู้ซื้อชาวต่างชาติที่มีการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมในประเทศไทยมากที่สุด โดยมีการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมไปทั้งหมด 3,448 ยูนิต มูลค่าคอนโดมิเนียมที่มีการโอนกรรมสิทธิ์รวมแล้ว 16,992 ล้านบาท ซึ่งคิดแล้วเป็นสัดส่วนประมาณ 47%ของคอนโดมิเนียมทั้งหมดที่มีการโอนกรรมสิทธิ์โดยชาวต่างชาติในประเทศไทยช่วง 6 เดือนแรกของปีพ.ศ.2566
การที่คนจีนโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมในประเทศไทยในช่วงครึ่งแรกปีพ.ศ.2566 มากเป็นอันดับที่ หนึ่ง ไม่ใช่เรื่องใหม่ และน่าตกใจเท่าไหร่ เพราะเป็นแบบนี้มาต่อเนื่องมาหลายปี และคงจะมากแบบนี้ไปอีกนาน เพราะเป็นผลพวงจากการที่คนจีนจำนวนมากเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากกว่า 1-2 ครั้ง และโดยทั่วไปแล้วคนจีนที่มีเงินหรือมีรายได้มากพอที่จะเก็บออมส่วนใหญ่เลือกที่จะลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ก่อนหน้านี้พวกเขาอาจจะลงทุนซื้อคอนโดมิเนียมในประเทศจีนเพื่อการลงทุน
เมื่อรัฐบาลประเทศจีนเริ่มออกกฎระเบียบเพื่อควบคุมตลาดอสังหาริมทรัพย์ทำให้การลงทุนคอนโดมิเนียมในประเทศจีนเป็นเรื่องไม่ง่ายแบบก่อนหน้านี้ อีกทั้งเมื่อเข้าสู่ช่วงโควิด-19 ปีพ.ศ.2563 เป็นต้นมาทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีนจำนวนมากมีปัญหาในเรื่องของเงินทุนหมุนเวียน และมีผลต่อเนื่องไปยังกลุ่มผู้ซื้อจำนวนไม่น้อยที่จ่ายเงินไปแล้วทั้งหมด หรือบางส่วนแต่ยังไม่ได้บ้านหรือคอนโดมิเนียมจากผู้ประกอบการ เพราะยังก่อสร้างไม่เสร็จ และหลายผู้ประกอบการหยุดการก่อสร้างโครงการตนเองไปแล้ว
กลุ่มคนจีนส่วนหนึ่งที่ยังต้องการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์จึงเลือกที่จะออกไปลงทุนหรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่พวกเขาเลือกเป็นจุดหมายปลายทางในการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนจีนที่เข้ามาทำงาน ทำธุรกิจ อีกทั้งยังมีบางส่วนที่ซื้อเพื่อเป็นที่พักอาศัยของบุตรหลานที่เขามาเรียนหนังสือในระดับต่างๆ
ทำให้การโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมของคนจีนในประเทศไทยมีจำนวนมากเป็นอันดับที่ 1 ต่อเนื่องมานานหลายปีแล้ว แม้ว่ารัฐบาลจะมีการกำหนดการโอนเงินออกนอกประเทศของคนจีนไว้ที่ 50,000 ดอลล่าร์สหรัฐต่อปีต่อคนหรือประมาณ 1,750,000 บาทก็ตาม แต่ก็ยังมีการพยายามหาช่องทางต่างๆ กันเพื่อนำเงินออกมาซื้อคอนโดมิเนียมในประเทศไทย
ช่วงก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนมีความเข้มงวดในการตรวจสอบธุรกิจหลายประเภททั้งขนาดใหญ่ และเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจาสีเทาหรือสีดำ ทำให้เกิดการย้ายของกลุ่มคนจีนที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจเหล่านี้มาอาเซียนโดยเฉพาะประเทศที่อยู่รอบประเทศไทย แล้วอาศัยประเทศไทยเป็นฐานในการเดินทาง พักผ่อน เพราะการเดินทางสะดวก ซึ่งเมื่อการตรวจสอบเริ่มเข้มงวดและเริ่มขยายวงกว้างออกไปในต่างประเทศมากขึ้น ประกอบกับการที่ประเทศจีนเพิ่งผ่านช่วงของซีโร่โควิดมาทำให้รัฐบาลจีนขอความร่วมมือกับประเทศไทยให้นักท่องเที่ยวจีนที่ต้องการเข้าประเทศไทยต้องขอวีซ่านักท่องเที่ยว และเป็นการขอวีซ่าเดี่ยวหรือรายบุคคลเท่านั้น ไม่สามารถขอวีซ่าแบบหมู่คณะหรือกรุ๊ปทัวร์ได้
ก่อนหน้านี้มีสมาคมต่างๆ ด้านธุรกิจการท่องเที่ยวพยายามออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกเรื่องนี้ เพราะทำให้นักท่องเที่ยวจีนจำนวนไม่น้อยหายไป แต่มีบางหน่วยงานบอกว่าเพื่อเป็นการรับทราบข้อมูลของคนจีนที่ต้องการเข้ามาในประเทศไทย และเป็นการตรวจสอบ เฝ้าระวังกลุ่มคนจีนที่อยู่ในฐานข้อมูลของรัฐบาลจีนซึ่งอาจจะมีความเกี่ยวข้องในธุรกิจที่ไม่ถูกต้องในประเทศอื่นๆ แต่ก็มีคนจีนหลายคนที่มีกำลังซื้อมีเงินมากพอก็ใช้พาสปอร์ตจากประเทศอื่นๆ ที่ได้มาจากการลงทุนตามระเบียบของประเทศนั้นๆ ในการเดินทางเข้าประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะพาสปอร์ตของประเทศในสหภาพยุโรป
การที่มีข่าวออกมาว่ารัฐบาลใหม่อาจจะมีการยกเลิกการขอวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวหรือคนจีนที่ต้องการเข้าประเทศไทยก็อาจจะมีผลดีต่อธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทยที่ต้องการนักท่องเที่ยวจีนให้กลับเข้ามาประเทศไทยเยอะแบบก่อนหน้านี้ ตอนนี้มีนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเข้ามาในประเทศไทยช่วงตั้งแต่เดือนมกราคม- กรกฎาคมประมาณ 1.853 ล้านคน ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้สิ้นปีคงไม่ได้ 5 ล้านคนตามที่ตั้งเป้าไว้แน่นอน ดังนั้นเรื่องของการปล่อยฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจากประเทศจีนจึงได้รับการพูดถึงเป็นลำดับแรกๆ และตลาดคอนโดมิเนียมก็จะได้รับอานิสงค์ไปด้วยแน่นอน
แม้ว่าเศรษฐกิจในประเทศของพวกเขาจะไม่ดีก็ตาม แต่อย่างไรก็ตามยังมีคนจีนที่ต้องการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อยู่ และเมื่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศพวกเขาไม่น่าสนใจในระยะยาวแล้ว การลงทุนในตลาดประเทศไทยเป็นทางเลือกที่พวกเขาให้ความสนใจแน่นอน เพียงแต่ต้องมีความสะดวกหรือไม่ยุ่งยากต่อพวกเขาเช่นกัน เพราะพวกเขามีทางเลือกที่ค่อนข้างหลากหลายในการลงทุนอสังหาริมทรัพย์นอกประเทศจีน ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่คนจีนต้องการเข้าไปซื้ออสังหาริมทรัพย์มากเป็นอันดับที่ 1 เหมือนช่วงโควิด-19 อีกต่อไป
ดังนั้น ถ้าต้องการกำลังซื้อจากคนจีนก็ต้องเพิ่มความสะดวกในประเทศเรา ส่วนปัญหาในประเทศของเขานั้นก็ให้พวกเขาจัดการเอง !!!
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ 04 กันยายน 2566